ขับเคลื่อนโดย Blogger.

เปิดตำนาน"โอ่งมังกร"สัญลักษณ์อันดับหนึ่งของจังหวัดราชบุรี


          ภาพเป็นภาพ ตำนาน เรื่อบรรทุกโอ่ง และบรรยากาศแม่น้ำแม่กลอง ราชบุรี ในอดีต.

สัญลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี..ทำไมต้องโอ่งมังกร....
...คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนินฯ เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี ...
          ถ้าพูดถึงจังหวัดราชบุรีหลายๆคนก็ต้องนึกถึงโอ่งมังกรอันเป็นสัญลักษณ์ที่ติดตามาช้านาน...เชื่อว่าบางคนก็อาจจะมีความสงสัยว่าสัญลักษณ์ของราชบุรีทำไมต้องเป็นโอ่ง อีกทั้งยังต้องเป็นลายมังกรด้วย....ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นโอ่งลายมังกรนับสิบใบตั้งอยู่เรียงรายรอบบ้านเพื่อใช้เป็นภาชนะหลักใส่น้ำฝนในการอุปโภคและบริโภค ถือเป็นเรื่องปกติที่เห็นจนชินตาสำหรับชาวชนบทที่บ้านแต่ละหลังจะมีโอ่งมังกรตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมากอย่างน้อยก็5-6ใบ หรือบางบ้านก็มีมากถึง10ใบ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับเก็บรักษาน้ำฝนให้สามารถใช้ได้เป็นปีๆ ด้วยข้อดีของโอ่งมังกรที่สามารถใช้เก็บน้ำฝนได้นานๆโดยไม่ทำให้น้ำฝนเกิดกลิ่น หรือรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งด้วยคุณสมบัติเด่นอีกอย่างของโอ่งมังกรที่มีความทนทานต่อแดด-ฝนได้นานหลายสิบปีจึงทำให้โอ่งมังกรเป็นที่นิยมทั่วไป...และข้อดีอีกข้อคือ..น้ำฝนที่เก็บในโอ่งจะเย็น..เป็นเพราะโอ่งมังกรช่วยรักษาความเย็นเอาไว้...
          ปัจจุบันนี้ชาวจังหวัดราชบุรีถือว่ามีความชำนาญเป็นอย่างมากในการปั้นโอ่งและการเขียนลายมังกรสาเหตุหลักที่ทำให้ให้ราชบุรีมีการปั้นโอ่งกันมากนั้นก็เป็นเพราะในพื้นที่ของราชบุรีมีดินแดงที่มีคุณสมบัติดีที่เหมาะสำหรับใช้ในการปั้นโอ่ง ด้วยเหตุที่ราชบุรีเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีชาวจีนอพยพเข้ามาทำมาหากินและตั้งหลักปักฐานกันมาก โดยที่ชาวจีนส่วนหนึ่งที่อพยพมาก็มีวิชาความรู้ในการปั้นโอ่งติดตัวมาจากเมืองจีน และได้เข้ามาเสาะแสวงหาพื้นที่ทำมาหากินพอได้ค้นพบว่าที่ราชบุรีมีดินแดงที่มีเนื้อดีมีอีกทั้งยังมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับที่เมืองจีน จึงได้ตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพการปั้นโอ่งที่ราชบุรี

ประวัติโอ่งมังกร

          นายจือเหม็ง แซ่อึ้ง เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาเมืองไทย เมื่ออายุ ๒๓ ปี นายจือเหม็ง สนใจงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็กเป็นคนบุกเบิก ทำอุตสาหกรรม เครื่องปั้นดินเผา ที่จังหวัดราชบุรี และทำให้ เครื่องปั้นดินเผา ของจังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะโอ่งมังกร มีชื่อเสียง ไปทั่วประเทศ นายจือเหม็ง แซ่อึ้งและพรรคพวก ได้รวบรวมทุนได้ 3,000 บาท ตั้งโรงงานเถ้าเซ่งหลีขึ้น เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 เป็นโรงงานขนาดเล็กบริเวณสนามบินอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลราชบุรีเดี๋ยวนี้ แหล่งดินสีแดงที่ราชบุรีก็ค่อนข้างจะมีคุณภาพเหมือนที่เมืองจีน ดังนั้น จากเดิมเราใช้โอ่งอ่างไหจากเมืองจีน ผู้ริเริ่มก็ทำอ่าง ไห กระปุก และโอ่งบ้างเล็กน้อย ให้ชาวมอญราชบุรีใส่เรือไปเร่ขาย
การทำโอ่งได้ริเริ่มอย่างจริงจังก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินขาวที่ใช้แต่งลวดลายเดิมได้มาจากเมืองจีน ต่อมาได้หาทดแทนจากดินที่ท่าใหม่จันทบุรี และสุราษฏร์ธานี เมื่อกิจการรุ่งเรืองขึ้น โรงงานจึงขยายกิจการและผลิตโอ่งเพิ่มมากขึ้น หุ้นส่วนหลายคนแยกตัวไปตั้งโรงงานเอง โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี
          ในจังหวัดราชบุรีมีโรงงานผลิตโอ่งอยู่ถึง 42 แห่ง และเป็นโรงงานผลิตเครื่องเคลือบรูปแบบต่าง ๆ ออกไปอีก 17 แห่งตามจังหวัดอื่น ๆ ที่แยกไปจากนี้คือที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรีและในกรุงเทพมหานครบริเวณ สามเสน เป็นต้น เจ้าของโรงงาน ช่างปั้น และประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดราชบุรี เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วล้วนเป็นลูกหลานจีน ดังนั้นช่างปั้นจึงได้คิดคัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคล และมีความหมายที่ดี เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากความงามเพียงอย่างเดียว ที่สุดก็ได้เลือกสรรลวดลายมังกร ซึ่งแฝงและฝังไว้ด้วยความหมายตามความเชื่อคตินิยมในวัฒนธรรมจีนลวดลายมังกรดั้นเมฆ มังกรคาบแก้ว และมังกรสองตัวเกี่ยวพันกัน ล้วนเป็นสัตว์สำคัญในเทพนิยายของจีน เป็นเทพแห่งพลัง แห่งความดี และแห่งชีวิต ช่างปั้นเลือกเอามังกรที่มี 3 เล็บหรือ 4 เล็บ เป็นลวดลายตกแต่งโอ่ง ช่างผู้ชำนาญปาดเนื้อดินด้วยหัวแม่มือเป็นรูปมังกร โดยไม่ต้องร่างแบบ ขีดเป็นลายมังกรด้วยปลายซี่หวี เป็นหนวด นิ้วเล็บ ส่วนเกล็ดมังกรหยักด้วยแผ่นสังกะสีแล้วเน้นลูกตาให้เด่นออกมา
          สรุป..สาเหตุที่โอ่งส่วนมากจะเขียนลายมังกรก็เพราะว่ามังกรเป็นเสมือนสัตว์ชั้นสูงจากฟ้าที่ถือเป็นสัตว์มงคลและเป็นที่นับถือของชาวจีน บวกกับมังกรยังเป็นสัตว์ที่มีลวดลายที่สวยงาม.. .. อีกทั้งคนไทยก็มีความเชื่อเรื่อง พญานาค ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับมังกร และมีหนังสือตำราพิชัยสงครามกล่าวถึงมังกรในการจัดขบวนทัพข้ามน้ำด้วย เรียกว่า มังกรพยุหะ จึงมีการเขียนรูปมังกรคล้ายพญานาคบนตัวโอ่งออกจำหน่าย และได้รับความนิยมจนกลายเป็นสัญลักษณ์ "โอ่งมังกร"
คำและความหมายที่เรียกใช้ในโอ่งมังกร
          โคกหม้อ เป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเขตอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชื่อที่แปลกไม่ซ้ำแบบใคร และมีความหมายแฝงไว้ ในตัวเกี่ยวกับประวัติเรื่องราว เครื่องปั้นดินเผา ในเขตจังหวัดราชบุรี
หลุมดิน เป็นตำบลเดียวของราชบุรีที่มีที่ดินเป็นลักษณะพิเศษ ซึ่งมีคุณภาพเป็นเลิศในการนำมาประกอบอุตสาหกรรมด้านนี้ ซึ่งในหลายสิบจังหวัด ไม่มีดินประเภทนี้และในปัจจุบันบรรดาโรงงานก็อาศัยดินจาก ตำบลนี้มาประกอบอุตสาหกรรม และจะสามารถนำมาใช้ได้หลายชั่วอายุคนยังนับว่าเป็นโชคของจังหวัดราชบุรีี อย่างมหาศาลที่มีทรัพยากรอันมีค่ายิ่ง
          มังกร ชาวจีนเรียกว่า เล้ง หรือหลงมังกรเป็นสัญลักษณ์ของชาวจีนถือว่าเป็นเครื่องหมายของความสำเร็จและความยินดี ญวนให้ความหมายของมังกรว่าเป็นความสง่างามและเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำทะเลชาวเวียดนามถือว่าปลาซิวที่มีอายุ ๓ ปี จะกลายเป็นมังกรจึงไม่กินปลาซิว และในวรรณคดีไทยถือว่ามังกรเป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่นในกากีกลอนสุภาพของเจ้าพระยาพระคลัง ( หน ) และมีภาพปั้นมังกรในเมืองไทยหลายแห่ง เช่น ภาพมังกรดั้นเมฆ ลายบานประตูพระอุโบสถวัดราชโอรส ธนบุรี วัดมังกรกมลวาส หรือ เล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพฯ และเป็นชื่อต่าง ๆ ด้วย
หินฟันม้า เป็นดินที่มีส่วนผสมของธาตุ ซีก้า ซึ่งมีลักษณะพิเศษ ที่นำมาเป็นตัวประสานกับสีฝุ่น และในการเขียนลวดลายต่าง ๆ ให้เป็นสีต่าง ๆ ได้ตามต้องการ
          โอ่งมังกรถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประวัติความเป็นมาช้านานของชาวราชบุรี..อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับชาวราชบุรีด้วยเพราะว่าโอ่งมังกรได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดราชบุรีเป็นอย่างมาก.....แต่ก็นับว่าน่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ความนิยมในโอ่งมังกรของประชาชนทั่วไปลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้มีการผลิตภาชนะรุ่นใหม่ๆที่มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการใช้งานขึ้นมาทดแทนโอ่งมังกรที่ทำมาจากดินแบบดั้งเดิม จึงส่งผลให้ผู้ที่ประกอบอาชีพปั้นโอ่งในจังหวัดราชบุรีลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด.. ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าโอ่งมังกรอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวราชบุรีจะคงอยู่คู่กับประชาชนชาวไทยได้ไปอีกนานแค่ไหน...........

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น